วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2558

ความรู้เรื่องลิฟต์สไตล์นิ้งซามะ ตอนที่ 1 Destination Dispatch Elevator

เอาล่ะ เริ่มต้นวันจันทร์แรกของปี 2558 แล้วใช่มั้ยเอ่ย??? ทุกวันจันทร์เราจะมาเล่าเรื่องราวของลิฟต์ต่างๆ บนโลกกัน เริ่มด้วยตอนแรก Destination Dispatch Elevator เรามาดูกันเลย
หลายๆ คนคงสงสัยว่า Destination Dispatch Elevator คืออะไร และต่างจากลิฟต์ปกติอย่างไร วันนี้จะมาดูกัน
Destination Dispatch Elevator
(ต้องขอขอบคุณข้อมูลจาก Elevatorpedia ด้วยนะคะ http://elevation.wikia.com/wiki/Destination_dispatch)
ลิฟต์ Destination Dispatch ที่เซ็นทรัลพระราม 9
เป็นระบบลิฟต์รูปแบบใหม่ที่จะจัดคนที่จะไปชั้นเดียวกันให้อยู่ในลิฟต์ตัวเดียวกันนั่นเอง ทำให้จอดชั้นน้อยครั้งที่สุด และใช้ลิฟต์ได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด โดยระบบนี้เราจะต้องเลือกชั้นจากที่โถงลิฟต์เลย และระบบนั้นจะบอกว่าให้ไปยังลิฟต์ตัวไหน แล้วเราก็รอจนกว่าลิฟต์จะมานั่นเอง... ซึ่งบางครั้งอาจจะใช้วิธีแตะบัตรที่ระบุข้อมูลของแต่ละชั้นก็ยังได้
แล้วลักษณะเด่นของระบบนี้ล่ะมีอะไรบ้าง
อย่างแรกเลย ที่โถงลิฟต์จะมี Keypad หรือที่แตะบัตร หรือบางทีอาจเป็นหน้าจอสัมผัสให้กดเลือกชั้น ซึ่งบางที่อาจใช้แตกต่างกันออกไปนะ
อย่างที่ 2 ไม่สามารถกดเลือกชั้นจากภายในลิฟต์ได้ เพราะมันไม่มีปุ่มชั้น หรือซ่อนอยู่ใต้แผงที่ล็อกด้วยกุญแจ แต่ถ้าเป็นแบบ Hybrid Configuration จะสามารถกดเลือกชั้นได้เพียงบางชั้นเท่านั้น
อย่างที่ 3 ถ้าเป็นแบบ Full Configuration จะมีไฟอยู่ที่ขอบแผงลิฟต์ บอกว่าลิฟต์ตัวนั้นไปชั้นไหนบ้าง หรือถ้าเป็นบางยี่ห้อจะบอกว่าขึ้นหรือลงด้วยนะ
ตัวอย่างไฟที่ขอบแผงลิฟต์ บอกว่าไปชั้น -1 (ก็คือชั้นใต้ดิน 1 นั่นเอง)
พูดถึง Hybrid Configuration กับ Full Configuration แล้ว สงสัยจังว่ามันแตกต่างกันอย่างไรกันนะ
เอาล่ะ เราจะมาเล่าความต่างระหว่าง 2 ระบบกัน
แบบ Hybrid Configuration
  • แผงกดชั้นจากข้างนอกนั้น จะอยู่แค่บางชั้นเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด อาจจะเป็นชั้นล่างสุด หรือชั้นที่คนใช้เยอะที่สุดก็ได้
  • ในลิฟต์นั้นยังมีปุ่มชั้นลิฟต์ตามปกติ แต่กดได้แค่บางชั้นเท่านั้น
  • ข้อดีคือ ช่วยจัดการคนให้ไปอยู่ชั้นเดียวกันได้ในช่วงที่คนขึ้นเยอะ เช่น ช่วงเช้าเวลาคนทำงาน เป็นต้น
  • ไม่มีระบบรองรับผู้พิการ
  • มีเพียงแค่บางยี่ห้อเท่านั้นที่ทำ เช่น Mitsubishi (DOAS) เป็นต้น
  • สามารถดัดแปลงให้เป็นระบบลิฟต์ปกติได้ (เช่นที่ออฟฟิศเซ็นทรัลลาดพร้าว เป็นต้น)
  • ตัวอย่างเช่น BB Building (ไทย), UOB Plaza (อินโดนีเซีย) เป็นต้น
แบบ Full Configuration
  • แผงกดชั้นจากข้างนอกนั้น จะอยู่ทุกชั้น
  • ในลิฟต์นั้นไม่มีปุ่มชั้นลิฟต์ จะมีเฉพาะปุ่มเปิด ปิด และปุ่ม Alarm เท่านั้น
  • มีระบบรองรับผู้พิการ
  • เป็นระบบลิฟต์ที่ทำทุกยี่ห้อ
  • ข้อดีคือ สามารถจัดการคนให้ไปอยู่ชั้นเดียวกันได้ทุกรูปแบบ
  • ตัวอย่างเช่น ออฟฟิศเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ, The Offices at CentralWorld, ปาร์คเวนเชอร์, MBK Tower (อาคารธนชาติ) เป็นต้น
แล้วข้อดีของระบบ Destination Dispatch ล่ะ มันคืออะไร
  1. คนพิการก็ใช้ได้ เพียงแค่กดปุ่ม/Set บัตรให้เป็นคนพิการ แล้วเลือกชั้นจากโถงลิฟต์ (ใช้ได้เฉพาะ Full Configuration) โดยระบบนั้นจะเพิ่มเสียงและยืดเวลาการเปิดประตูออกไป เพื่อให้คนพิการไม่โดนหนีบยังไงล่ะ
  2. ไม่ต้องรอลิฟต์และอยู่ในลิฟต์นาน เพราะมันจะลดการจอดชั้นให้น้อยครั้งที่สุด (แต่ควรจะมีจำนวนลิฟต์เยอะหน่อยนะ)
  3. ทำให้ใช้ลิฟต์ทุกตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
แล้วข้อจำกัดของ Destination Dispatch ล่ะ
ถ้าจู่ๆ เราพรวดเข้าไปในลิฟต์เลย โดยไม่ดูชั้น เราก็จะไปชั้นมั่วไปหมด หรือบางทีเรากดหลายๆ ครั้ง ระบบก็จะคิดว่าไปกันหลายคน ซึ่งจริงๆ แล้วเราไปแค่คนเดียว หรือบางทีเราดูชั้นที่จะไปแต่ไม่กด ระบบก็จะคิดว่าไม่มีคนไป ซึ่งบางครั้งเวลาเรารอแล้วเปิดลิฟต์อาจจะพบคนเต็มลิฟต์ก็เป็นได้...
แต่มันก็มีทางแก้นะ คือให้เตรียมบัตรเอาไว้แตะ ถ้าไม่แตะก็ขึ้นลิฟต์ไม่ได้ และถ้ายิ่งใช้กับประตูหมุนกั้นโถงลิฟต์ล่ะก็ จะทำให้จัดระบบได้แทบไม่ผิดเพี้ยนเลย และยังช่วยในเรื่องของความปลอดภัยได้อีกด้วย

เอาล่ะ เรามาดูวิธีใช้ Destination Dispatch กันเลย
แบบ Full


แบบ Hybrid

แบบแตะบัตร
NingSama's Comment
ระบบ Destination Dispatch ทำให้ใช้ลิฟต์ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น และจอดชั้นน้อยลง ซึ่งทำให้ลดระยะเวลาการรอได้ถึง 30% ทีเดียว (เค้าว่ากันอย่างนั้น) ยิ่งถ้าจำนวนชั้นนั้นน้อยและจำนวนลิฟต์เยอะก็จะยิ่งเร็วขึ้น ซึ่งจากการสัมผัสจริงๆ มาแล้ว พบว่าเป็นอะไรที่สุดยอดและคุ้มค่ากับอาคารรักษ์โลกมาก และเท่าที่สังเกตดู อาคารรักษ์โลกในประเทศไทยส่วนใหญ่จะชอบใช้ Destination Dispatch กันเยอะ และหวังว่าตึกใหม่ตรงพระราม 9 จะใช้บ้างเช่นเดียวกัน

แล้วเจอกันใหม่ในคราวหน้านะคะ See Ya!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น